Deprecated: mysql_connect(): The mysql extension is deprecated and will be removed in the future: use mysqli or PDO instead in /home/jitcharo/domains/jitcharoenhome.com/public_html/connect_db.inc.php on line 10
ภาวะสมองเสื่อม เรื่องที่คุณต้องใส่ใจ โดยโรงพยาบาลธนบุรี

Deprecated: mysql_connect(): The mysql extension is deprecated and will be removed in the future: use mysqli or PDO instead in /home/jitcharo/domains/jitcharoenhome.com/public_html/connect_db.inc.php on line 10

ภาวะสมองเสื่อม เรื่องที่คุณต้องใส่ใจ โดยโรงพยาบาลธนบุรี

Date: 2014-09-14 12:44:58    View : 3564
Image

      เป็นเวลานานนับศตวรรษ ที่มนุษย์เราได้พยายามที่จะหาวิธีทำให้ตัวเองฉลาดขึ้น หรือหายาทำให้สมองดี แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่เมื่อมีอายุมากขึ้นจะพบว่ามีความจำเลวลง หลงลืมหรือบุคลิกภาพและอารมณ์ผิดแผกไปจากปกติ บางรายเป็นมากจนจัดว่าเป็นโรคขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมพบบ่อยแค่ไหน?
 
พบว่าอยู่ในอัตราสูงถึง 5-8% ของผู้สูงอายุเกิน 65 ปี และจะมีอัตราเป็นโรคสูงถึง 20% และถ้าอายุเกิน 90 ปี จะพบในครึ่งหนึ่งที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้น ในประเทศไทยพบว่ามีประชากรอายุเกิน 60 ปี ถึง 3 ล้าน 1 แสนคน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ร้อยละ 5.7 ของประชากรไทย (พ.ศ.2532) ดังนั้นกลุ่มประชากรกลุ่มนี้จึงมีความโน้มเอียงสูงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
 
พยาธิสภาพของภาวะสมองเสื่อมเป็นอย่างไร?
 
เป็นที่ทราบกันดีว่าสมองของคนเรานั้นเป็นอวัยวะที่ได้พัฒนามาสูงสุดของร่างกายมนุษย์เรา และมีความสลับซับซ้อนในการทำงานมากที่สุด เซลล์สมองเป็นเซลล์ที่มีความจำเพาะมาก และเปราะบางที่สุด ในคนปกติมีเซลล์สมองมากมายนับเป็นพันๆ ล้านตัว เซลล์เหล่านี้เมื่อตายไปจะไม่มีการงอกมาทดแทนได้เช่นอวัยวะอื่นๆ
 
มีภาวะอื่นๆ อะไรบ้างที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับภาวะสมองเสื่อม...?
 
ก่อนที่จะบ่งชี้ว่าคนใดเป็นภาวะสมองเสื่อม แพทย์หรือคนดูแลผู้ป่วยจำเป็นต้องแยกภาวะ 3 ภาวะต่อไปนี้ ที่อาจมีอาการและอาการแสดงคล้ายคลึงกับภาวะสมองเสื่อมอันได้แก่
 
- ผู้ป่วยที่สับสน เช่น เกิดขึ้นภายหลังชัก หมดสติหรือเป็นลม ได้รับยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท หรือยากระตุ้นประสาทบางอย่าง
 
- ผู้ป่วยที่เพ้อคลั่ง เช่น เกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ติดยาเสพติด ติดยานอนหลับ โรคตับพิการ โรคไตพิการ โรคสมองอักเสบ หรือแม้แต่ได้รับสารพิษทางเคมีเข้าร่างกาย
 
- โรคท้อแท้หรือซึมเศร้า ในผู้ป่วยที่หมดหวังทอดอาลัยตายอยากในชีวิต ท้อแท้ อยากฆ่าตัวตายจากความผิดหวัง หรือปัญหาชีวิต ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยของโรคทางจิตเวชวิทยา ซึ่งจำเป็นที่ต้องรีบแก้ไขและรักษาโดยด่วน
 
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมเกิดจากอะไร...?
 
ในผู้สูงอายุสาเหตุสมองเสื่อมที่พบบ่อยๆ มีสาเหตุ 2 ประการ คือ
 
1. โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต ไม่ว่าจะเกิดจากชนิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตันหรือแตกก็ตาม โรคนี้พบราว 20% ของผู้ป่วย
 
2. โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด และจะมีอาการเลวลงเรื่อยๆ คือ ราว 70-80% ของผู้ที่มีสมองเสื่อม โรคนี้จะเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองฝ่ออย่างรวดเร็ว
 
ภาวะสมองเสื่อมสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่...?
 
ปัจจุบันพบว่าภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยทุกอายุอาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
 
1. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ผลดี
 
2. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ผลเพียงบางส่วน
 
3.ภาวะสมองเสื่อมที่ยังรักษาไม่หายในปัจจุบัน
 
ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ผลดี ซึ่งพบได้ราว 5-10% ของผู้ป่วยทั้งหมดสามารถจำแนกได้ตามสาเหตุดังนี้
 
- ภาวะเลือดคั่งที่ผิวสมอง การผ่าตัดเอาเลือดออกก็จะหายจากโรคสมองเสื่อมได้
 
- ภาวะโพรงสมองโต การผ่าตัดใส่ท่อให้โพรงสมองแฟบลงก็จะหายจากภาวะสมองเสื่อมได้
 
- โรคลมชักที่ไม่ได้รับการควบคุมรักษาที่ดีและถูกต้องเพราะการชักแต่ละครั้งทำให้เซลล์สมองตายไปเป็นจำนวนนับหมื่นๆ ตัว
 
- โรคขาดวิตามินบี
 
- โรคของต่อมไทรอยด์ สร้างฮอร์โมนน้อย
 
- โรคเยื่อสมองอักเสบ เช่น จากวัณโรคสมอง เชื้อรา พยาธิสมอง เป็นต้น
 
- โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง
 
- โรคเนื้องอกสมองบางชนิดที่ฐานสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่เกิดมาจากเยื่อหุ้มสมอง
 
- โรคพิษสุรา หรือได้รับสารพิษต่อสมองต่างๆ
 
- โรควิลสัน ซึ่งเกิดจากพันธุกรรมเนื่องจากมีสารตะกั่วคั่งในสมองและตับ
 
ภาวะสมองเสื่อมกลุ่มนี้ทั้งหมดจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วเพื่อจะได้ให้การรักษาโดยตรงที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที
 
ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ผลเพียงบางส่วน ในกลุ่มนี้อาจมีสาเหตุจาก
 
1. โรคเนื้อสมองตายหลายตำแหน่งจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงในสมอง
 
2. สมองขาดออกซิเจน หรือกลูโคส
 
3. โรคเมาหมัดในนักมวย หรือผู้ที่มีอุบัติเหตุทางสมองโดนกระทบกระเทือนหรือกระเทือนสมองบ่อยๆ
 
4. โรคสมองอักเสบจากไวรัส
 
5. โรคเนื้องอกสมองที่กระจายมาจากมะเร็งที่อื่นของร่างกาย
 
6. โรคปลอกหุ้มใยสมองเสื่อม โรคกลุ่มนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนในคนไทยพบน้อยแต่ในประเทศหนาวพบมากเป็นสาเหตุทำให้คนหนุ่มสาวในต่างประเทศพิการมาก
 
การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมทำได้อย่างใด
 
โดยปกติแพทย์ทั่วไปหรือประสาทแพทย์ มักจะเป็นผู้ให้การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม โดยอาศัยข้อมูลจากประวัติ ระยะเวลาเป็นโรค อาการ อาการแสดงประวัติครอบครัว การตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด และการสืบค้นหาสาเหตุของโรคดังกล่าวซึ่งอาจประกอบด้วยการเจาะเลือด การเอกซเรย์ การตรวจ คลื่นสมอง การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง การตรวจการไหลเวียนของเลือดสู่สมอง และการตรวจชิ้นเนื้อสมองโดยการผ่าตัดพิสูจน์
 
ภาวะสมองเสื่อมรักษาได้อย่างไร
 
โดยปกติหลักการรักษาภาวะสมองเสื่อมประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการ คือ
 
1. การรักษาโรคต้นเหตุของภาวะสมองเสื่อม เป็นหัวใจที่สำคัญยิ่งและต้องรีบกระทำโดยเร็วและทันท่วงที แล้วแต่ชนิดของสาเหตุต่างๆ กันจึงจะได้ผลดีดังกล่าวแล้ว
 
2. การรักษาตามอาการแบบประคับประคอง นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ญาติผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีความสุข ไม่วุ่นวายหรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายต่างๆ ได้ในรายที่มีอาการทางอารมณ์รุนแรงเอะอะโวยวายหรือวุ่นวายมากๆ ก็จำเป็นต้องให้ยาช่วยระงับจิตใจผู้ป่วย โดยมากนิยมใช้ยากลุ่มกล่อมประสาทหลัก เช่น ฮาโลเพอริตอล เป็นต้น
 
3. การให้ยาบำบัดรักษาภาวะสมองเสื่อม ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตัวยาต่างๆ มากมายในการรักษาโรคนี้เริ่มจากวิตามินต่างๆ ตลอดจนฮอร์โมนที่เคยใช้กันมากในอดีต ในปัจจุบันพบว่าไม่ได้ผลดีแต่อย่างใด ยา 2 กลุ่มที่แพทย์นิยมใช้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ได้แก่
 
- ยาขยายหลอดเลือดสมอง ยากลุ่มนี้ให้เพื่อหวังผลให้เลือดไปสู่สมองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลของยากลุ่มนี้ ปรากฏว่าให้ผลการรักษาที่ยังไม่น่าพอใจนัก ยกเว้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ บางรายที่อาจได้ผลบ้าง
 
- ยาช่วยการทำงานของสมอง ยากลุ่มนี้ฤทธิ์ทำให้เซลล์สมองที่เหลืออยู่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แม้จะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองเพิ่มขึ้นก็ตาม จากการศึกษาทดลองให้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมชนิดโรคอัลไซเมอร์ พบว่าหลังให้บุคลิกภาพและการทดสอบต่างๆ ทางจิตเวชศาสตร์ดีขึ้น ทั้งในด้านความจำและการเรียนรู้ ยาในกลุ่มนี้จึงนิยมใช้กันในปัจจุบัน ยาที่ใช้ได้แก่
 
1. Ergoloid mesylate
 
2. Piracetam
 
3. Pyritinol Lecithin เป็นต้น
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ โทร 02-412-0020 ต่อ 2005-7  โรงพยาบาลธนบุรี1 www.thonburihospital.com